เชลโล (Cello)

        เชลโล (Cello) ชื่อเต็มๆ ของเชลโล คือ Violon Cello หรือที่เรียกกันว่า Cello ซึ่งชื่อเต็มๆ มีความหมายว่า ซอเบสวิโอลขนาดเล็ก (little bass viol) แต่ต่อมาได้เรียกให้สั้นลงแต่ยังคงความหมายเดิมอยู่ แต่ที่น่าแปลกคือแม้ว่าเชลโลจะเป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็ว แต่ชื่อของมันเพิ่งจะมีขึ้นในศตวรรษที่ 17 นี่เอง นับเป็นเวลานานหลายศตวรรษทีเดียวหลังจากที่เชลโลได้ถือกำเนิดขึ้นมา หลักฐานในช่วงแรกๆ ที่กล่าวถึงที่มาของเชลโลนั้นค่อนข้างสับสน หลักฐานแรกคือ Basso di viola da braccio ก็ดูเป็นไปได้ยาก แต่เครื่องดนตรี Bass violin ของอังกฤษนั้นดูจะใกล้เคียงกว่า เช่นเดียวกับ Bass de violon ของฝรั่งเศส แม้ว่าจริงๆ แล้วเครื่องดนตรีทั้ง 2 ชนิดจะไม่สามารถอธิบายถึงที่มาของเชลโลได้ทั้งหมดก็ตาม
        เชลโลนั้นตั้งเสียงเหมือนกับไวโอลินคือคู่ 5 โน้ตสำหรับเชลโลนั้นโดยปกติจะเขียนด้วยโน้ตโทนเสียงเบส นอกจากว่าเพลงนั้นจะเล่นในระดับเสียงสูงจึงจะเขียนด้วยโน้ตโทนเสียงเทอเนอร์ มีอยู่ช่วงหนึ่งประมาณศตวรรษที่ 18 โน้ตสำหรับเชลโลจะเขียนด้วยโน้ตเสียงสูงกว่าโน้ตของตัวมันเอง 1 ช่วงเสียง (Octave) ตัวอย่างเพลงสำหรับเชลโลในคีย์เสียงสูงจะพบได้ในงานประพันธ์สตริงควอเต็ทของ บีโธเฟน เป็นต้น
        นักเชลโลต้องนั่งในขณะเล่น ที่ท้ายของเชลโลมีเหล็กแหลมยาวช่วยยึดเชลโลให้อยู่ติดกับพื้นและผู้เล่น สามารถใช้เข่าประคองเชลโลไว้ ถึงแม้ว่าจะมีลักษณะคล้ายไวโอลินแต่เชลโลไม่ก็ไม่ได้สร้างด้วยสัดส่วนเดียว กันทั้งหมด โดยลดขนาดความยาวของลำตัวลงแต่เพิ่มความหนาขึ้น ดังนั้นนักเชลโลจึงไม่ได้รับเสียงที่ออกมาจากตัวของเชลโลเช่นเดียวกับที่นัก ไวโอลินได้รับจากไวโอลิน
        เชลโลสามารถเล่นได้เกือบทุกเทคนิคเช่นเดียวไวโอลินไม่ว่าจะเป็น อาร์เปจโจ คอร์ด ฮาร์โมนิค และเทคนิคอื่นๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคอของเชลโลมีความยาวที่มากกว่าไวโอลิน นักเชลโลจึงต้องฝึกการยืดของนิ้วมือให้ดียิ่งขึ้น ในช่วงที่ต้องเล่นโน้ตเสียงสูง นักเชลโลต้องใช้นิ้วหัวแม่มือวางบนสายเพื่อใช้หยุดเสียงและเพื่อหาตำแหน่ง ที่ถูกต้องของตัวโน้ตในแต่ละโพสิชั่น คันชักของเชลโลค่อนข้างสั้นและหนักกว่าคันชักไวโอลินเล็กน้อย โดยปกติมักมีสมดุลย์ที่พอเหมาะ แต่ไม่สามารถเล่นโน้ตได้ทีละหลายๆ ตัวในคันชักเดียวเหมือนกับคันชักของไวโอลิน
        การเล่น Pizzicato เหมาะกับเสียงของเชลโลเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าโดยปกติแล้วเชลโลจะให้เสียงที่กังวานมากในแต่ละโน้ตที่บรรเลง หรือแม้แต่การเล่นคอร์ดด้วยการดีดสาย ดังนั้นเชลโลจึงมีความสำคัญมากในการเล่นประกอบเครื่องดนตรีอื่นๆ ทั้งเครื่องสายอื่นๆ หรือแม้แต่เครื่องลมไม้
        ในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18 เชลโลถูกใช้ในวงออร์เคสตร้าเพื่อเล่นแนวเสียงเบสคลอไปกับดับเบิ้ลเบสเท่า นั้น ในดนตรีบาโร้คเชลโลเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบไปกับออร์แกนหรือ ฮารพ์สิคอร์ด และในวงดนตรีสตริง ควอเต็ทยุคแรกๆ เชลโลรับหน้าที่บรรเลงแนวเสียงเบส นานๆ ครั้งจึงจะมีโอกาสได้เล่นเป็นท่วงทำนองที่เป็นแนวดนตรีหลัก
        ในผลงาน คีตนิพนธ์ของไฮเดินและโมสาร์ทนั้น เชลโลจึงได้มีแนวทางบรรเลงของตัวเอง และเป็นบีโธเฟนนั่นเองที่เป็นผู้ดึงเอาน้ำเสียงที่ยอดเยี่ยมของเชลโลมาใช้ใน งานประพันธ์ต่างๆ ของท่าน ทั้งในงานออร์เคสต้า แชมเบอร์มิวสิค และโซนาต้าสำหรับเชลโลและเปียโนจำนวน 5 บทของท่าน
        คีตกวีร่วมสมัยหลายท่านได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของเชลโลมากขึ้นเรื่อยๆ Richard Strauss ใช้เสียงของเชลโลเป็นตัวแทนของ Don ในงานประพันธ์ Don Quixote ส่วน Ernest Bloch ก็ได้ใช้เสียงของเชลโลเพื่อแทนเสียงของกษัตริย์โซโลมอนในผลงาน Schelomo ของท่าน
        ส่วน Villa-Lobos ได้ประพันธ์ Bachianas Brasileira สำหรับเชลโล 8 ตัวและโซปราโน นักประพันธ์อย่าง Schumann Dvorak, Elgar, Hindemith, Barber ต่างก็ได้ประพันธ์คอนแชร์โตสำหรับเชลโลไว้เป็นหลายบทด้วยกัน (Barber ยังได้ประพันธ์โซนาต้าสำหรับเปียโนและเชลโลไว้อีกด้วย)
        แต่ผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเชลโลนั้นต้องนับย้อนหลังไปในปี คศ. 1720 คือผลงานสวีทสำหรับเดี่ยวเชลโลจำนวน 6 บทของคีตกวีชาวเยอรมัน โยฮัน เซบาสเตียน บาค ถือเป็นผลงานที่มีความท้าทายและเยี่ยมยอดที่สุดในบรรดาคีตนิพนธ์ทางดนตรี ชั้นเยี่ยมทั้งหลาย


ระดับเสียงของเชลโล
         ในหนังสือ Musica instrumentalis deudsch ของ Argricola เป็นเอกสารยุคแรกๆ ที่กล่าวถึงเชลโลเอาไว้ เครื่องดนตรี 3 สายนี้ตั้งสายในระดับเเสียง F c g ซึ่งอยู่ในระดับเดียวและสัมพันธ์กันวิโอล่าและไวโอลิน ต่อมาเมื่อได้เพิ่มสายที่ 4 เข้าไปคือเสียง Bb ถัดจากสาย F (เสียงต่ำ) นักทฤษฎีดนตรีในช่วงศตวรรษที่ 16 หลายๆ ท่านก็ได้อ้างอิงถึงการตั้งสายแบบนี้ แต่ในช่วงต้นปี 1532 ได้กล่าวถึงการตั้งเสียง C G d a ไว้ในงานเขียน Musica teusch ของ Gerle ส่วนในงานเขียนชื่อ Syntagma musicum ของ Michael Praetorius ในปี 1619 ได้อธิบายถึงการตั้งเสียงของเชลโลทั้ง 2 แบบไว้ และแบบ F c g d ซึ่งระดับเสียงสูงกว่า และมีเอกสารภาพประกอบของเชลโล 5 สายที่ตั้งเสียง F’ C G d a เครื่องดนตรีนี้ตั้งเสียงต่ำจนเกือบจะเหมือนกับเบสในยุคปัจจุบัน และมีขนาดใหญ่กว่าอย่างเห็นได้ชัดเกินกว่าที่จะสามารถประคองไว้ด้วยเข่าของผู้เล่น
การตั้งเสียงเชลโลในสมัยใหม่นั้นเกิดขึ้นที่ประเทศิตาลีในช่วงต้นของศตวรรษที่ 17 และได้รับความนิยมแพร่หลายโดยทั่วไป การตั้งเสียงต่ำนั้นอาจจะเเสดงถึง Bass violin ของอังกฤษ และ Basse de violon ของฝรั่งเศส ที่ยังคงมีใช้อยู่ในทั้ง 2 ประเทศจนถึงตอนต้นศตวรรษที่ 18


การวางนิ้วและการใช้คันชัก
         แม้ว่าเชลโลจะตั้งเสียงคู่ 5 เช่นเดียวกับไวโอลินและวิโอลา แต่เนื่องจากมีขนาดที่ใหญ่กว่าทำให้ไม่สามารถใช้เทคนิคการเล่นด้วยนิ้วแบบเดียวกันได้ ในการเล่นโพสิชั่นแรกของเชลโลนั้น นิ้วชี้จะให้เสียงที่สูงกว่าสายเปล่า 1 เสียง แต่ถ้าเป็น 2 นิ้วจะให้เสียงที่สูงกว่าอีก 1 เสียง และในนิ้ว 4 จะให้เสียงที่สูงกว่าครึ่งเสียงหรือ 1 เสียง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนโพสิชั่นที่ต้องอาศัยเทคนิคของมือซ้ายที่ค่อนข้างโค้ง ซึ่งเชลโลรับเทคนิคนี้มาจากไวโอลินอีกที จนกระทั่งในทศวรรษที่ 1720 เทคนิคมือซ้ายที่ค่อนข้างตรงกว่าจึงได้รับการยอมรับมากขึ้น ผู้เล่นเชลโลเริ่มตระหนักว่าบทบาทของนิ้วโป้งมือซ้ายสามารถที่ทำหน้าที่ทาบสายคล้าย Capo dastro ของกีตาร์ได้ ในขณะเดียวกันความยาวของคอเชลโลก็พัฒนาจนมีขนาดมาตรฐานประมาณ 75 ซม.หรือ 30 นิ้ว ซึ่งเป็นผลงานที่ต้องยกความดีให้กับ Antonio Stradivari ช่างทำไวโอลินที่มีชื่อเสียงชาวอิตาลีแห่งเมืองเครโมนาในยุคเรอเนสซองส์
         ส่วนเทคนิคของคันชักก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 18 ก่อนหน้านี้การจับคันชักถ้าไม่เป็นแบบ Underhand grip เช่นเดียวกับซอ Viol ก็จะเป็นแบบ Overhand grip ซึ่งมือขวาจะอยู่ห่างจากด้ามคันชักมากกว่าวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน แต่การสีของคันชักนั้นที่ค่อนข้างถูกจำกัด พัฒนาการการใช้คันที่เป็นอิสระขึ้นนั้นค่อยๆ ดำเนินควบคู่ไปเช่นเดียวกับเทคนิคของนิ้วมือ โดยคันชักนั้นค่อยๆ พัฒนาให้มีความโค้งขึ้น ทำให้ผู้เล่นสามารถควบคุมการใช้คันชักได้ดีขึ้นในเรื่องพลังเสียงทั้งการทำให้เกิดเสียงที่กว้างขึ้นและการแสดงออกที่หลากหลายขึ้นเช่นเดียวกัน
        ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 เทคนิคการเล่นเชลโลที่พัฒนาหลากหลายขึ้นและใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก่อนหน้างานเขียนทฤษฎีเชลโล Essai sur le doigte du violoncelle et sur la conduite de liarchet ในปี 1813 ของนักเชลโลชาวฝรั่งเศส Jean-Louis Doport นั้น ยังไม่มีแบบเรียนเชลโลที่สำคัญที่ใช้ในโรงเรียนสอนดนตรีระดับนานาชาติเลย แต่ Jean-Louis Doport เป็นผู้ค้นคว้าและพัฒนาระบบการวางนิ้ว การใช้หัวแม่มือในโพสิชั่นสูงๆ ทำนิ้วสามารถทำให้สายเกิดการสั่นสะเทือนของในช่วงสั้นๆ เช่นเดียวกับไวโอลินและเทคนิคนี้ก็ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน ส่วนเทคนิคอื่นๆ ได้นำจากไวโอลินเช่นเดียวกันเช่น Multiple-stopping และฮาร์โมนิค ส่วนเชลโลนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยใน 2 ส่วนสำคัญคือ ไม่มีที่ยึดบริเวณเข่าแต่มีเหล็กแหลมเป็นตัวยึดกับพื้นแทน และการลดองศาที่ตั้งฉากของตำแหน่งการวางเชลโลลง ทำให้ผู้เล่นสามารถเล่นด้วยมือซ้ายได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น ส่วนคันชักในยุคศตวรรษที่ 18 นั้น เชลโลถูกพัฒนาให้มีความเว้าขึ้นและมีขนาดที่สั้นลงแต่หนาขึ้นกว่าคันชักของไวโอลินและวิโอลา

ยอดนักเชลโลในอดีต
Duport
        ตระกูล Duport ก็เช่นเดียวกับนักเชลโลร่วมสมัยชาวอิตาเลียน Luigi Boccherini โดย Jean Luis Duport นั้น เป็นนักเชลโลทั้งในราชสำนักของสเปนและปรัสเซีย แม้ว่าเขาจะได้เขียนบทประพันธ์สำหรับเชลโลที่สำคัญและกลายเป็นนักเชลโลที่มีฝีมือโดดเด่น แต่ก็เป็นที่รู้จักน้อยกว่าน้องชายของเขา Jean-Piere ซึ่งเป็นนักเชลโลในราชสำนักปรัสเซียเช่นเดียวกัน ซึ่งแต่เดิมบีโธเฟนต้องการมอบโซนาต้า Op. ที่ 5 ให้ แต่ต่อมาได้อุทิศให้กับผู้อุปถัมภ์นักเชลโลทั้ง 2 แทนคือ Friedrich Wilhem ที่ 2
        พี่น้องทั้งคู่ยังได้แต่งเพลงสำหรับเชลโลไว้เช่นเดียวกัน เมื่อโมสาร์ทได้เดินทางมาเยือนราชสำนักแห่งนี้ที่ Potsdam เมื่อปี 1789 และได้แต่งเพลงให้กับวงสตริงควอเต็ทประจำราชสำนักโดยให้เชลโลมีบทเด่น ส่วนในเปียโน Variation บทที่ K573 ก็ดัดแปลงจากมินูเอ็ทบทหนึ่งจากโซนาต้าของ Jean-Piere Duport

Bernhard Romberg
         ถือเป็นนักเชลโลที่มีชื่อเสียงที่สุดของยุคถัดจากตระกูล Duport เขาได้เขียนตำรา Methode de violoncelli ในปี 1840 และประพันธ์บทเพลงเดี่ยวเชลโลไว้อีกหลายบทด้วยกัน

David Popper
        นักเชลโลชาวเชคได้ประพันธ์ Elfentaz สำหรับเชลโล และเพลงสำหรับเชลโล 3 ตัวและออร์เคสตร้าใน Op. ที่ 66 ในปี 1892 เพลงนี้มีความพิเศษคือ เป็นบท Requeim ที่ปราศจากเสียงร้องเพลง
        นักเชลโลที่สำคัญท่านอื่นๆ ของศตวรรษที่ 19 รวมถึง Alfredo Piatti นักเชลโลชาวอิตาเลียน และ Julius Klengel ชาวเยอรมัน ทั้ง 2 ได้แต่งเพลงบทเล็กๆ สำหรับเชลโลไว้หลายบท

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น